เผยแพร่เมื่อ : พฤหัสบดี 17 ตุลาคม 2562 โดย ธรายุทธ กิตติวรารัตน์ จำนวนผู้เข้าชม 1326 คน
ปิดฉากงาน world didactic asia ที่ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา กรุงเทพฯ ในเวทีการแข่งขันการควบคุมหุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 ครั้งที่ 2 (Thailand Competition on Robotic and Automation Control using Industry 4.0 Technology 2nd) ลงไปแล้วและเป็นอีกหนึ่งเวทีการแข่งขันที่ ตัวแทนนักศึกษา มทร.ล้านนา ทีม Mecha_Robot_Lanna ประกอบด้วย นายเสกข์ ขอดแก้ว นายกัญจน์ นาคเอี่ยม นายคมสัน ทองบุญ โดยอาจารย์ธรายุทธ กิตติวรารัตน์และอาจารย์จักรินทร์ ถิ่นนคร อาจารย์ผู้ควบคุม สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศการแข่งขัน ประเภทการแข่งขันควบคุมระบบอัตโนมัติในอุตสาหกรรม 4.0 ครองถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี พร้อมทุนการศึกษา 40,000 บาท และได้รับอุปกรณ์สนับสนุนเครื่อง PLC จากบริษัท ทีดีเอส เทคโนโลยี(ประเทศไทย) จำกัด มูลค่า 50,000 บาท อีกทั้งทีม Mecha_Lanna ยังสามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง การแข่งขันควบคุมระบบอัตโนมัติแบบชาญฉลาด ( Smart Automation 4.0) ได้รับโล่พร้อมเงินรางวัล 10,000 บาท และอุปกรณ์ PLC จากบริษัทมิตซูบิชิ มูลค่ากว่าสองหมื่นบาท ซึ่งเป็นความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา สถาบันเทคโนโลยีปทุมวันที่ร่วมกันจัดการแข่งขันขึ้นต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 2 โดยแบ่งการแข่งขันออกเป็น 4 ประเภทได้แก่ การแข่งขันควบคุมระบบอัตโนมัติ 4.0 การแข่งขันควบคุมหุ่นยนต์แขนกลในงานเชื่อมอุตสาหกรรม 4.0 การแข่งขันออกแบบชิ้นส่วนยานยนต์ด้วยหุ่นยนต์อุตสาหกรรม 4.0 และการแข่งขันหุ่นยนต์ประกอบอาหาร(ผัดไทย) ซึ่งอีกสองประเภทนักศึกษา มทร.ล้านนา ที่เข้าร่วมการแข่งขันก็ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์เพื่อพัฒนาปรับปรุงวิธีการเพื่อเข้าร่วมแข่งขันในปีต่อไป
เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2562 อาจารย์ที่ปรึกษาและนักศึกษาที่ได้รับรางวัล ได้เข้าพบ รศ.ศีลศิริ สง่าจิตร ผู้ปฏิบัติหน้าที่อธิการบดี เพื่อรายงานผลการแข่งขันในโอกาสนี้ อธิการบดีได้กล่าวแสดงความชื่นชมยินดีและให้โอวาทแก่นักศึกษา “ขอให้รักษามาตรฐานในเวทีการแข่งขันแต่เหนือสิ่งอื่นใดขอให้พัฒนาฝึกฝนตนเองอยู่เสมอ และหมั่นศึกษาหาความรู้ด้านวิทยาการสมัยใหม่อย่างสม่ำเสมอ และถ่ายทอดประสบการณ์ที่ได้จากเวทีการแข่งขันไปสู่น้องๆรุ่นใหม่ต่อไป”
เวทีการแข่งขันอาจจะเป็นสิ่งสะท้อนความรู้ความสามารถของนักศึกษาที่จะบ่งบอกได้ส่วนหนึ่งว่า มีความเข้าใจในสิ่งที่ได้เรียนและสามารถนำไปประยุกต์ให้เข้ากับสถานการณ์จริงได้อย่างไรแต่เหนือสิ่งอื่นใดคือประสบการณ์ที่หาไม่ได้จากห้องเรียน เพื่อในอนาคตนักศึกษากลุ่มนี้จะนำไปปรับใช้ในชีวิตการทำงานได้
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา